Tuesday, February 21, 2012

รวบรวมความคิดเห็นเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ จากกลุ่มเยาวชน1

“สื่อใดที่เป็นอันตรายกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด”
นางสาวธัญพิชา ขันติวรบท (2555)

น่าจะเป็นสื่อดิจิตอลหรือพวกสื่อทางอินเตอร์เน็ต
ในโลกไซเบอร์ก็มีสังคมออนไลน์ ที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย ผู้ที่อยู่ในสังคมออนไลน์จะรู้ดีว่า ด้านดีหรือร้ายมากกว่ากัน แต่ผู้ที่ไม่อยู่หรือไม่เคยเข้าไปสัมผัสอาจะมองเห็นข้อเสียมากกว่า แต่ก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป คนที่คลุกคลีอยู่โลกไซเบอร์บางคนก็มักมองข้ามข้อเสียไป เพียงเพราะความสนุกสนานในช่วงเวลานั้น โดยไม่รู้ว่าความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่มีแต่คุณประโยชน์ ทุกๆอย่างล้วนมีภัยซ่อนเร้นทั้งสิ้น ขณะที่หลายคนใช้อินเตอร์เน็ตในการทำประโยชน์ อีกหลายคนก็กำลังมัวเมากับสื่อชนิดนี้ เพราะความที่เป็นสื่อที่ไม่สามารถป้องกันได้ เรามักได้ยินข่าวการติดเกมส์ออนไลน์ของเด็ก จนทำให้เสียการเรียน มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง
ปัจจุบันวัยรุ่นมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเกี่ยวกับเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบนอกเหนือไปจากโทรศัพท์มือถือ ยังมีการแชท ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ ฯลฯ การเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว สามารถค้นหาข้อมูลความรู้ต่างๆ จากทั่วโลกได้ในพริบตาในทางตรงกันข้ามโลกออนไลน์ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมการสื่อสารที่แย่ลง เรามักพบเสมอว่ารูปแบบการสื่อสารส่วนใหญ่จะเป็นภาษาพูดและเป็นภาษาเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ทำให้สามารถพูดคุยระหว่างกัน แสดงออกทางอารมณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันได้ทันที เกิดความรู้สึกเหมือนเป็นคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันเล่นเกมส์เหมือนกัน คุยกันรู้เรื่องมากกว่าคนในชีวิตจริง สังคมโลกออนไลน์มีลักษณะดึงดูดน่าสนใจ เข้าไปอยู่แล้วมีความสุขเหมือนมีโลกส่วนตัว สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญดึงดูดใจให้เข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อคลายความเหงาได้ง่ายกว่าวิธีอื่นวัยรุ่นจึงมักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อทำให้ตนเองดูเป็นคนทันสมัย ดังนั้นการใช้เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับโลกออนไลน์บางรายติดจนถอนตัวไม่ขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนหลุมดำที่เป็นกับดักวัยรุ่น การอยู่ในโลกออนไลน์เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะผู้ที่เล่นทุกวันมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง ถ้าถูกขัดขวางไม่ให้เล่นหรือขาดความต่อเนื่องในการเล่น จะหงุดหงิด ไม่พอใจ และแสดงพฤติกรรมก้างร้าว
สำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดจากสื่อทางอินเตอร์เน็ต คือ พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้เวลากับบุตรหลานมาก ๆ อย่าปล่อยให้เขาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตคนเดียว ก็เหมือนกับการปล่อยให้บุตรหลานไปเที่ยวห้าง หรือสนามหลวงคนเดียวนั่นแหละ อาจจะพลัดหลงหรือหายไปเลยก็ได้ “ความรัก ความอบอุ่น และความใส่ใจภายในครอบครัว” สิ่งนี้แหละที่เมื่อจัดการไม่เหมาะสม หรือให้บุตรหลานไม่พอ ก็จะกลายมาเป็นต้นตอของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไม่รู้จบสิ้น ดังนั้น ภูมิคุ้มกันที่ดีไม่ว่าจะเป็นภัยออนไลน์ หรือภัยไหน ๆ น่าจะเริ่มจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความรัก ความเอาใจใส่กับลูก เข้าใจและให้เวลากับลูกบ้าง
...............................................................................
สื่อใดเป็นอันตรายกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด
(สื่อออนไลน์ บนโลกอินเตอร์เน็ต)
นางสาววิมลิน เอี่ยมจันทร์ (2555)

เนื่องจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่พุ่งทะยานเพิ่มขึ้นมหาศาลในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นทั่วโลก หรือเฉพาะประเทศไทย จากความสามารถในการซึ่งเชื่อมโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน ที่ทำให้ทั้งข่าวสาร วัฒนธรรม รวมถึงพฤติกรรมการลอกเลียนแบบกระทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด และง่ายดายเพียงชั่วพริบตา ปัญหาสื่อลามก เว็บอานาจรต่างๆ เริ่มคุกคามเด็กและเยาวชนไทยมากขึ้นเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่-ผู้ปกครองทวีความห่วงใยต่อมหันตภัยร้ายที่แฝงตัวมากับระบบออนไลน์ทางสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักเอแบคโพลล์ร่วมกันศึกษาพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็ก อายุ 18-22 ปี ซึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง
ผลสำรวจพบว่าเด็กที่ใช้อินเตอร์เน็ตจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมาก ได้แก่
1.เวลาของการใช้อินเตอร์เน็ตจะใช้ตั้งแต่ 1-5 ชั่วโมง ทั้งที่ทางการแพทย์แนะนำไว้ว่าเด็กและเยาวชนควรใช้เวลาดูโทรทัศน์และเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งโดยภาพรวมกว่า 80% เด็กใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ตมากเกินไป
2.ช่วงเวลา เด็กยังนิยมเล่นอินเตอร์เน็ตในช่วงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อน ถือว่าไม่เหมาะสม
3.เนื้อหาในเว็บที่เข้าไปดูนั้น เด็กกว่า 60% เข้าไปดูเว็บลามก รูปโป๊
4.เด็กจะคุยกับคนแปลกหน้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยมากกว่า 80% จะมีการนัดพบกัน 10% นัดเจอกันข้างนอกและมีเพศสัมพันธ์กัน
5.เด็กจะก้าวไปสู่ปัญหาที่รุนแรง เข้าไปดูเว็บที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น การทำระเบิด การฆ่าตัวตาย ฆาตกรรม ฯลฯ
ส่วนผู้ปกครองพบว่า มีเพียงร้อยละ 20 ที่รู้ว่าเด็กเข้าอินเตอร์เน็ตเพื่ออะไร ดูเนื้อหาอะไรบ้าง ส่วนร้อยละ 40 รู้ว่าใช้อินเตอร์เน็ตแต่ไม่รู้เนื้อหา และที่เหลือคือไม่รู้อะไรเลย ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากหากผู้ปกครองขาดการดูแลเอาใจใส่ เด็กติดอินเตอร์เน็ตมากๆ ติดเกมหรือชอบดูเว็บที่ไม่เหมาะสม ไม่สร้างสรรค์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีปัญหาครอบครัว พ่อแม่ไม่มีเวลา จะติดอินเตอร์เน็ตมากกว่าเด็กที่มีวุฒิภาวะ เพราะเด็กเหล่านั้นมีภูมิต้านทานต่ำ
และจากการลองสุ่มเปิดเว็บเกี่ยวกับทางเพศและเซ็กซ์พบว่ามีไม่น้อยกว่า 22 ล้านเว็บ ถือเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนมาก ดังนั้น การควบคุมกำกับเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญผู้ปกครองควรดูแลเด็กมากขึ้นว่าเด็กใช้อินเตอร์เน็ตทำอะไรบ้าง เอาใจใส่ และหมั่นอบรมสั่งสอนลูก สร้างจิตสำนึกที่ดีอย่างสม่ำเสมอ และสร้างแบบอย่างที่ดี เพื่อที่จะสามารถหล่อหลอมให้เขาเติบโตเป็นคนที่มีความคิดที่ดี ฉลาดในการเลือกบริโภคแต่สื่อที่ดี และสามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากสื่อที่ไม่พึงปรารถนาได้ต่อไป

อ้างอิงจากhttp://161.200.184.9/webelarning/elearning2_2550/internet_safety/keng_page/Untitled-1.html

.........................................................................
สื่อที่เป็นอันตรายต่อเยาวชน(สื่ออินเตอร์เน็ต)
นางสาวสุมาลี ฉันทถาวรกุล (2555)
ปัจจุบันนี้เราได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ มีการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วหลายวิธี และที่สำคัญมีการส่งต่อภาพและข้อความที่เร็วทันใจ เช่น facebook และ Application ต่างๆอย่างเช่น sim simi ที่มีการแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ไม่ว่าจะเป็น Iphon Ipad BBเป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมมีความกังวลกันมากในเรื่องของการมั่วสุม การมีพฤติกรรมก้าวร้าวใช้ความรุนแรงของเยาวชนโดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากการบริโภคสื่อที่ไม่เหมาะสม
การใช้คอมพิวเตอร์ของเยาวชนในประเทศไทย ส่วนมากใช้เล่นเกมส์ออนไลน์ที่กำลังติดกันงอมแงมในกลุ่มเด็ก เยาวชน หรือแม้แต่ในกลุ่มหนุ่มสาวในวัยทำงาน แต่การเล่นเกมส์ออนไลน์ถ้ามองในแง่ดีก็มีประโยชน์ให้ความแปลกใหม่ ฝึกไหวพริบปฏิภาณ ถ้าเป็นในผู้สูงวัยก็อาจช่วยในด้านความจำไม่ให้สมองฝ่อได้ แต่ปัญหาก็คือ คนไทยที่เล่นเกมส์ออนไลน์ ใช้เวลาเล่นนานเกินไป ทำให้เสียเวลาทำงาน เสียเวลาอ่านหนังสือในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เสียเวลาพักผ่อนก็จะทำให้ง่วงนอนในห้องเรียน ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา นอกจากนี้การเล่นเกมส์ออนไลน์ ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง นั่นก็คือ การซึมซับเอาความก้าวร้าว รุนแรง โหดเหี้ยม ให้กลายเป็นนิสัยที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นเกมส์ไล่ล่าสังหาร ยิงปืน ขว้างระเบิด เกมส์ใดยิ่งโหดมากก็จะเป็นที่นิยมเล่นกันมาก และอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือการกระทำความผิดทางเพศเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการเข้าดูเว็บไซท์โป๊ เกิดการหมกมุ่น เข้าสู่การลองมีเพศสัมพันธ์กับแฟน กับเพื่อนมีทั้งที่สมยอม และข่มขืน จากนั้นก็มีการถ่ายคลิบวีดีโอจากโทรศัพท์มือถือแล้วส่งต่อกระจายในหมู่เพื่อน หรือ เยาวชนบางคนอาจจะไม่มีจุดประสงค์ในการที่จะเข้าไปดูเว็บโป๊ แต่เว็บเพจที่เยาวชนต้องการจะไปหาข้อมูล อาจจะมีBanner โฆษณาที่เป็นสิ่งที่ลามก ทำให้เข้าไปดู เพราะเยาวชนเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น ปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากการใช้ ไอ.ที.อย่างไม่ถูกต้อง
1การจะกำจัดสื่อที่เป็นอันตราย ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเยาวชนนั้น ทำได้ยากมากๆ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำหน้าอยู่ตลอดเวลา และเป็นเรื่องยากที่จะขอร้องให้ผู้ผลิตสื่อที่ไม่เหมาะสมทั้งหลายหยุดพฤติกรรมทำร้ายสังคม แต่ยังไม่สายเกินไปที่เราจะมาช่วยกันสร้างเกราะคุ้มกันภัยทางสังคม การสร้างเกราะคุ้มกันภัยนี้ ต้องใช้ความร่วมมือจาก กลุ่มบุคคลที่มีส่วนสำคัญในส่วนนี้หลายกลุ่มด้วยกันดังนี้
กลุ่มแรกคือพ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการสั่งสอน ตักเตือน ชี้แนะให้ลูกได้รู้ และเข้าใจชีวิต ให้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆที่จะเป็นความเสียหายต่อตัวเอง ตลอดจนให้รู้จักการควบคุมตัวเองให้สามารถหลีกเลี่ยงการบริโภคสื่อที่ไม่ดีทั้งหลาย ให้มีความอดกลั้นไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ไม่พึงประสงค์ และให้มีความฉลาดในการมีวินัย รู้จักแบ่งเวลาของชีวิต รู้จักเลือกบริโภคสื่อที่ดีสื่อที่สร้างสรรค์ ถ้าพ่อ แม่ทุกคน เอาใจใส่ และหมั่นอบรมสั่งสอนลูกอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถหล่อหลอมให้เติบโตเป็นคนที่มีความคิดที่ดี ฉลาดในการเลือกบริโภคแต่สื่อที่ดี และสามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากสื่อที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นสื่อในลักษณะใดก็ตาม ความรู้ความเข้าใจที่พ่อแม่เสริมสร้างให้แก่ลูกดังกล่าวนี้ เรียกว่า จิตสำนึก ดังนั้นการที่มีจิตสำนึกที่ดี ก็คือการที่สามารถดูแลตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หรืออยู่ใต้อิทธิพลของสื่อที่ไม่ดีได้ด้วยตัวของเขาเอง
กลุ่มที่สองที่มีส่วนสำคัญในการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการเลือกบริโภคสื่อให้แก่เ บรรดาญาติพี่น้อง หรือผู้ปกครอง ที่มีโอกาสใกล้ชิด ใช้เวลาทุกครั้งสอดแทรกแนวความคิดที่ดีต่อการเลือกบริโภคสื่อที่เหมาะสมเยาวชนก็จะเกิดความอบอุ่นใจที่ตนเองเป็นที่รักเป็นที่ห่วงใยของญาติๆ
กลุ่มที่สามคือครูอาจารย์ควรอบรมสั่งสอน คิดกิจกรรมการเรียนให้เกิดจิตสำนึกที่ดีได้ง่ายและเยาวชนก็จะให้ความร่วมมือสูง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์จะมีความเคารพนับถือมาเป็นตัวช่วยได้อย่างดี
สุดท้ายก็คือบรรดาสื่อมวลชนทุกแขนง ถ้าสามารถลดการผลิตสื่อที่ไม่เหมาะสมลงได้ แล้วเพิ่มสื่อที่ดีๆให้มีจำนวนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยรณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่เยาวชน สื่อที่ดี บริโภคแล้วเกิดความรู้ เกิดความคิด เกิดการกระทำที่ดี บริโภคแล้วไม่เป็นพิษไม่เป็นภัย เรียกว่า สื่อสีขาว ถ้าสังคมเต็มไปด้วยสื่อสีขาว สังคมนั้นก็จะเต็มไปด้วยสันติสุข 1
วิธีการแก้ปัญหาสังคมทุกปัญหา ไม่สามารถหลีกหนีการใช้ความรักความอบอุ่นในครอบครัวมาเป็นเครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับเยาวชน เพราะเยาวชนคือพลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนผ้าขาวที่พร้อมจะรับการแต่งแต้มสีจากผู้ใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ครอบครัว โรงเรียน ครู และสังคมจะต้องเป็นและสร้างแบบอย่างที่ดี เพื่อที่พวกเค้าจะได้มี ความ“ สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี” เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป
1อ้างอิงจาก http://ladawan.net/content_sara001.html ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ นายกสมาคมผู้บริโภคสื่อสีขาว

Saturday, February 4, 2012

"ชมรมคนไทยรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ" (Thai MIL Club)










                                                           

ชื่อชมรม (ภาษาไทย) :   ชมรมคนไทยรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ
(ภาษาอังกฤษ):              Thai MIL Club

หมายเหตุ:                      MIL = Media and Information Literacy

ผู้ก่อตั้ง : 1. อ.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ
2. ผศ.ดร.วรลักษณ์ วงศ์โดยหวัง ศิริเจริญ
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์: รศ.ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์
วันที่ก่อตั้งชมรม : 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 (2012)

วิสัยทัศน์: พัฒนาองค์ความรู้การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศสำหรับคนไทย

พันธกิจ: ศึกษา วิจัย ฝึกอบรมพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ
สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน
บุคลากรทางการศึกษาและสาขาวิชาอื่นๆ ทั่วประเทศ
ค้นหา รวบรวม ผู้มีจิตอาสาเข้าร่วมเป็นเครือข่าย
เพื่อช่วยกันระดมความคิด
ในการชี้ทางออกบอกทางถูกให้กับคนไทย

ช่องทางการติดต่อสื่อสารและสร้างเครือข่าย:
ทั้งทางสังคมออนไลน์ (Social online)
และสังคมออนเรียลเวิลด์ (Social on real-world)

สื่อที่ต้องรู้เท่าทัน:
วิทยุ โทรทัศน์ (ฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี เป็นต้น)
สิ่งพิมพ์ต่างๆ และสื่อดิจิทัล
สารสนเทศที่ต้องรู้เท่าทัน:
ทุกประเภท ทุกรูปแบบ

ภารกิจช่วงแรกในการเริ่มต้น คือ : ขอระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ
1. วิธีการเปิดรับสื่อและสารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน ควรต้องทำอย่างไรบ้าง

2. ทักษะพื้นฐานที่คิดว่าสำคัญ 5 อันดับแรกในการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ
เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อ ชักจูงใจไปทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม
หรือถูกล้างสมองให้เชื่อในสิ่งที่ผิด คืออะไร

3. สื่อและสารสนเทศชนิดใดในปัจจุบัน
ที่คิดว่าอันตรายที่สุดในการสร้างค่านิยมผิดเพี้ยน
หรือปลูกฝังทัศนคติ และสร้างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในหมู่คนไทย

ทุกความคิดที่ทุกคนส่งมา คือ สิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ในการนำไปต่อยอดขยายผล
เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสื่อร้าย สื่ออันตราย สื่อที่มีวาระซ่อนเร้น
ให้กับคนไทยทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย
เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันที่มีความสุขและไม่ถูกหลอกลวง
รวมทั้งนำไปใช้ในทางวิชาการและในทางปฏิบัติต่อไป

ส่งทุกความคิดเห็นมาที่: thaimilclub@gmail.com
และ thaimilclub@yahoo.com
ขอบคุณมากครับ แล้วพบกันครั้งหน้า